วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

ชัดเจน หลักฐานมัดตัวจอมบงการบุกรุกวัด 27ธค 59 !!! วินัยตำรวจระบุชัด ใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ ? วัดพระธรรมกายมีสิทธิ์ฟ้องกลับเต็มที่


 ​​​​​คนสองยุค  ตอนที่ 4
-----------------------------------------------
วันพุธ ที่ 11 มกราคม พ.ศ.2560





กรณีธรรมกาย ​คงจำกันได้นะครับว่าผมได้เริ่มเขียนความเห็นครั้งแรกด้วยข้อความนี้ จากข่าวใหญ่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ที่เขียนว่า มีนายตำรวจผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า


------------------------------
           ​“วันนี้เจ้าหน้าที่จะไม่มีการนำกำลังบุกเข้าไปตรวจค้นภายในวัดพระธรรมกายแต่อย่างใด โดยตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุใด ๆ กับประชาชน วันนี้ เวลา 17.00 น. ตนจะลงพื้นที่ดูแลการปฏิบัติงานด้วยตนเอง และมั่นใจว่าสถานการณ์จะไม่บานปลาย เนื่องจากได้กำชับผู้ปฏิบัติให้ใช้ความละมุนละม่อม ทำทุกอย่างตามขั้นตอนกฎหมาย”

​-นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของนายตำรวจใหญ่
ผู้แม่นในข้อกฎหมายในวันนั้น-
------------------------------

และเราจบตอนที่ 3 ด้วยความเห็นที่มั่นใจเกือบ 100 % ว่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 นั้น พิสูจน์ได้ว่า

         ​การที่ตำรวจเข้ารื้อถอนประตูรั้วของวัดพระธรรมกายไป เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่กรรมสิทธิ์ของวัดพระธรรมกายอันเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล และรั้วที่รื้อไปนั้นก็สร้างขึ้นมาถูกต้อง เพราะได้รับยกเว้นระยะร่นจากคลองสาธารณะตามกฎหมาย

​#เมื่อเป็นเช่นนี้การบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์โดยการรื้อรั้วไปนั้น  เป็น คดีที่วัดมีโอกาสสูงที่จะฟ้องกลับนี้   



ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ !!! ??


​#ในวงสนทนามีข่าวจากตำรวจชั้นผู้น้อยมาว่า ตำรวจใหญ่คนที่ที่สั่งการ ฉลาดมาก ใช้วิธีปัดความรับผิดให้ผู้ใต้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นทั้งหมด ด้วยวิธีการสั่งงานด้วยปากเปล่า ไม่เคยสั่งการด้วยการทำเป็นหนังสือเพื่อแสดงความรับผิดชอบในคำสั่งของตัวเองเลย​ เข้าทำนอง ได้ฝากเมียเสียฝากลูกน้อง ประมาณนั้น ยากที่จะฟ้องให้ถึงตัวผู้สั่งการได้ ทำให้ผมเกิดความสงสัยว่า กฎหมายประเทศนี้มีช่องว่างให้กลั่นแกล้งกันโดยไม่ต้องรับผิดด้วยหรือ??


           กรณีผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบต่อคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของตนหรือไม่นั้น เรื่องนี้ มีเขียนไว้ใน “คู่มือการดำเนินการทางวินัยสำนักงาน ก.พ.” ซึ่งเรียบเรียงโดย พ.ต.อ.ธวัช  ประสพพระ  ผกก.กลุ่มงานนิติกรด้านสอบสวนและพิจารณาโทษกองวินัย เขียนเรื่องวินัยตำรวจไว้อย่างนี้ครับ

​#วินัยตำรวจ
​มาตรา 78 (2) ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง แต่ถ้าเห็นว่าการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นจะทำให้เสียหายแก่ราชการ หรือจะไม่เป็นการรักษาประโยชน์ของทางราชการ จะเสนอความเห็นเป็นหนังสือทันที เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งนั้นก็ได้ และเมื่อได้เสนอความเห็นแล้ว ถ้าผู้บังคับบัญชายืนยันให้ปฏิบัติตามคำสั่งเดิม ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตาม แต่เมื่อทราบโดยแน่ชัดว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ผิดกฎหมาย เมื่อชี้แจงแล้วไม่ต้องทำตาม ถ้ายังทำตาม ผู้ปฏิบัติตามต้องรับผิดชอบด้วย

​“คำสั่ง” หมายถึง ข้อความที่บอกให้ทำหรือให้ปฏิบัติ  คำสั่งในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือเสมอไป อาจเป็นคำสั่งด้วยวาจา หรือด้วยวิธีอื่นก็ได้ ​ท่านยกตัวอย่างว่า ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ไปพบเพื่อปรึกษาข้อราชการ แต่ไม่มาก็เป็นการขัดคำสั่ง  


เป็นการยืนยันว่าคำสั่งด้วยวาจา
ก็ถือเป็นคำสั่งที่ต้องปฏิบัติครับ


​# จบข่าวนะครับ ที่เคยพลิ้วว่าเป็นเรื่องของ อบต.กับ วัดไม่เกี่ยวกับตำรวจบ้าง, ที่ประชุมสั่งการจนคลิปหลุดมาบ้าง, ที่ลูกน้องคนที่มาติดหมายมากระซิบขอความเห็นใจจากทนายวัดว่านายสั่งมาบ้าง ​แม้เป็นการสั่งการด้วยวาจาเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดของตน ตามภาษาวันรุ่นว่า “ไม่ใจเล้ย” ก็หนีไม่พ้นเพราะวินัยตำรวจกำหนดไว้ครับ หลักนี้ใช้ได้ทุกกรณีที่เราได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่เฉพาะกรณีวัดพระธรรมกายที่เดียว




------------------------------
เป็นที่มาแห่งการฟ้องฐานเป็นเจ้าพนักงานประพฤติหน้าที่โดยมิชอบ ที่เรียกกันว่ามาตรา 157 ได้อย่างดี นะครับ
------------------------------


​แต่เมื่อวิเคราะห์คำให้สัมภาษณ์นักข่าว 
ที่เป็นคลิปเสียงด้วยข้อความข้างต้น
ซึ่งทางวัดพระธรรมกาย
ได้เก็บเป็นหลังฐานไว้เรียบร้อยแล้วนั้น 

...สรุปได้ว่า...

​1.ท่านเป็นผู้ออกคำสั่ง ตามข้อความที่ว่า “วันนี้เจ้าหน้าที่จะไม่มีการนำกำลังบุกเข้าไปตรวจค้นภายในวัดพระธรรมกายแต่อย่างใด โดยตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุใด ๆ กับประชาชน”

​2.ท่านเป็นผู้ลงมือปฏิบัติงานเอง ตามคำให้สัมภาษณ์ที่ว่า “วันนี้ เวลา 17.00 น. ตนจะลงพื้นที่ดูแลการปฏิบัติงานด้วยตนเอง และมั่นใจว่าสถานการณ์จะไม่บานปลาย เนื่องจากได้กำชับผู้ปฏิบัติให้ใช้ความละมุนละม่อม ทำทุกอย่างตามขั้นตอนกฎหมาย”


------------------------------
​ โดยสรุป นายตำรวจใหญ่นั้นสารภาพด้วยตนเองว่า ตนเองเป็นผู้สั่งการและร่วมลงมือในการปฏิบัติการรื้อถอนประตูรั้ว ของวัดพระธรรมกายด้วยตนเอง ชัดเจนนะครับ
------------------------------


#ถ้าปฏิเสธก็เปิดคลิปเสียงให้สัมภาษณ์ยืนยันไป จะได้ไม่อ้างว่าเป็นเสียงเลียนแบบของมนุษย์ 100 เสียงอีก ส่วนเจ้าหน้าที่ต่างๆ อีกเกือบ 1,000 คนนั้นก็ ดูรูปถ่ายเป็นหลักฐานใครทำก็ฟ้องคนนั้น แต่ถ้าให้การว่าใครสั่งมาแล้วโต้แย้งแล้วตามระเบียบก็กันเป็นพยานไป รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่เดินนำเข้ามาด้วยนะครับ



​#เมื่อชัดเจนว่าใครบ้างที่ต้องรับผิดก็มาพิจารณาต่อว่าจะฟ้องข้อหาอะไร

​มาตรา ๓๖๒ ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อ... หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

​มาตรา ๓๖๕ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๖๒ .....

​(๑) โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย

​(๒) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความเห็นผมน่าจะเป็นการบุกรุกโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ตาม มาตรา  ๓๖๕ (๑) เพราะการยกกำลังมามากมายขนาดนั้นแม้ไม่ได้พูดว่าจะทำอย่างไร แต่ก็เป็นการขู่โดยการกระทำให้เห็นว่าถ้าไม่ยอมก็จะบุกโดยใช้กำลังที่ยกมานั้นเข้าดำเนินการ

แต่ที่ชัดๆคือมาตรา ๓๖๕ (๒) ร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป อันนี้ไม่ต้องอธิบายนะครับ

​คงสรุปเรื่อง
การรื้อประตูรั้ววัดพระธรรมกาย
ด้วยข้อกล่าวหาบุกรุกพื้นที่ทางสาธารณะไว้ให้คิดดูว่า
 ใครน่าจะมีความผิดเรื่องอะไร ?  
อะไรถูกอะไรผิด ? 

ตามประโยคเด็ดของท่านผู้นำไว้เท่านี้ก่อน  


​อย่าไปอนุโมทนาบาปนะครับ 
หากมีใครต้องถูกฟ้องกลับบ้างครับ

​        ***   มีข่าวล่าสุดมาว่า หลังจากทีมทนายวัดเริ่มมีการโต้ตอบข้อหาต่างที่ยัดเยียดมา อย่างเข้มข้น คนที่ผมบอกว่า”ไม่ใจ”นั้น ด้เปลี่ยนคำให้สัมภาษณ์ใหม่ ว่า " ที่ไปทำการรื้อประตูรั้ววัดพระธรรมกายเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.59 นั้น ไม่ได้ไปตามที่กรมธนารักษ์มาร้องทุกข์กล่าวโทษแต่อย่างใด"  กลายเป็นว่ารื้อเพราะสร้างรั้วกีดขวางทางจราจร  ***


        " ก็เลยได้ความรู้ใหม่มาอีกว่าการสร้างรั้วแสดงแนวเขตในพื้นที่ของตน เป็นการกีดขวางทางจราจร ​"


ผมเคยถามสิบตำรวจเอกงานจราจรท่านหนึ่ง (ไม่ใช่พลตำรวจเอกนะครับ) เขาบอกว่า พรบ.จราจรนั้นมีไว้ใช้ในที่สาธารณะเท่านั้นไม่เกี่ยวกับในพื้นที่ส่วนบุคคล ไม่งั้น “คนขี่มอเตอร์ไซด์ไม่ใส่หมวกกันน๊อคในบ้านก็คงถูกจับหมด" แล้วครับ ที่สงสัยยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรแล้ว ต้องให้เจ้าหน้าที่ธนารักษ์จังหวัดนำเข้าพื้นที่ทำไม ? มันเกี่ยวกันตรงใหน ? ตอบให้ได้ใจหน่อยซิ



​นี่หรือคือผู้รักษากฎหมายไทยในยุคนี้ 
เราต้องทนอีกนานไหมครับ


  ขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตาม 
 แล้วพบกันใหม่ตอนที่ 5 ครับ 

#ปกป้องพระพุทธศาสนา
#วัดพระธรรมกาย

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2560

ปริศนาชวนคิด เมื่อพื้นที่ที่ขอคืนเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดพระธรรมกาย ไม่ใช่พื้นที่ทางสาธารณะ ใครต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ?

​​​​​  ​​คนสองยุค     ตอนที่ 3
--------------------------------------------------_-

​เมื่อตอนที่แล้วได้ตั้งข้อสงสัยไว้ว่า พื้นที่ที่วัดพระธรรมกาย “ถูกกล่าวหา” ว่าบุกรุก นั้น  มีการใช้ร่วมกันในลักษณะเป็นพื้นที่ทางสาธารณะจริงหรือไม่ ?

​เพื่อให้กระจ่างขอให้พิจารณาภาพถ่ายทางอากาศพื้นที่เกิดเหตุรื้อถอนตามรูปนี้ครับ



​ดูจากรูปจะเห็นว่าพื้นที่รื้อถอนอยู่ริมคลองแอน(แนวสีเขียวตามถนน)ฝั่งพื้นที่วัดพระธรรมกาย ที่เห็นเป็นถนนลูกรังขนานไปกับคลองและมีการไถปรับพื้นที่ของวัดอยู่ (ฝั่งขวามือตามรูป) ส่วนถนนสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันอยู่ฝั่งมูลนิธิธรรมกาย ติดรั้วของมูลนิธิ (ฝั่งซ้ายมือตามรูป) นะครับ

.................................
​พื้นที่ที่ถูกล่าวหา คือ 
ถนนลูกรังซึ่งวัดสร้างขึ้นในพื้นที่
ตามโฉนดของวัด  

เพื่อความสะดวกในการก่อสร้าง  
ป้องกันไม่ให้รถขนของหนักวิ่งบนถนนสาธารณะ
เพราะจะทำให้ถนนชำรุด
สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนทั่วไป 

น่าจะเป็นการสร้างประโยชน์
ให้ประชาชนมากกว่าความเดือดร้อน
.................................

​อย่างไรก็ตามเมื่อคลองแอนมีสภาพเป็นคลอง ก็ต้องมีริมตลิ่ง ซึ่งอาจใช้เป็นที่สาธารณะได้ตามระเบียบที่กล่าวข้างต้น  และเมื่อดูตามรูปถ่ายพื้นที่ที่วัดพระธรรมกายใช้อยู่ติดริมคลองแอนไม่ได้เว้นพื้นที่ไว้เลย 

สรุปได้ไหมว่า “วัดพระธรรมกายใช้พื้นที่ริมตลิ่งซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” ?

​#ยังสรุปไม่ได้ครับเพราะ
​ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ. ๒๕๕๓

​ข้อ ๕ ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันที่อยู่ในบังคับของระเบียบนี้  หมายถึง ที่ดินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าเป็นโดยสภาพธรรมชาติโดยการใช้ร่วมกันของประชาชน

​ข้อ ๑๒  การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินตามข้อ ๕....ให้เป็นหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาให้การสนับสนุนในการดำเนินการด้วย

​# สรุปในประเด็นนี้คือ 
ถ้าวัดพระธรรมกายโต้แย้งว่าพื้นที่พิพาทไม่ใช่ที่สาธารณะ เป็นที่ในกรรมสิทธิ์ของวัดพระธรรมกาย ไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดิน นายอำเภอและ อบต.ต้องร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

​ประเด็นที่เขียนมานี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าที่ริมคลองสาธารณะไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะเสมอไป เพราะเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่องนี้ไว้ดังนี้ครับ

​# คำพิพากษาศาลฎีกาที่  244/2545  คำพิพากษาย่อสั้น
​ทรัพย์ของแผ่นดินจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพของตัวทรัพย์นั้นว่าราษฎรได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่  

​ซึ่งเมื่อดูตามภาพถ่ายแล้วพื้นที่ทางดังกล่าว  เป็นพื้นที่ริมตลิ่งคลองแอนด้านขวามือที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ของบุคคลอื่น  มีผู้ใช้ประโยชน์คือวัดพระธรรมกายรายเดียวที่สร้างถนนชั่วคราวในที่ดินของตนเองเพื่อการก่อสร้างเท่านั้น จึงไม่มีสภาพใช้ประโยชน์ร่วมกัน

​ส่วนพื้นที่ทางสาธารณะที่ใช้ร่วมกันคือถนนลาดยางฝั่งคลองด้านซ้าย และเป็นที่ชัดเจนว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองด้านขวาจะสร้างสะพานข้ามไปใช้ถนนสาธารณะด้านซ้าย  พิสูจน์ได้ว่า “ริมคลองด้านขวาไม่มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันในเชิงสาธารณะ” ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ก็น่าจะไม่เข้าข่ายพื้นที่ทางสาธารณะสมบัติตามแนวคำพิพากษาฎีกาข้างต้นนะครับ


​#แต่ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ
กว่าเรื่องพื้นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินคือ 

ประเด็นที่ว่าหากพื้นที่พิพาทนี้ “เป็นพื้นที่มีโฉนดของวัดพระธรรมกาย” ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ 100% 

เพราะโดยปกติการออกโฉนดจะกำหนดว่าทิศใดจดอะไรเช่น ในกรณีที่ดินวัดพระธรรมกาย นี้พอจะวิเคราะห์ได้ว่า ในโฉนดควรจะระบุว่าทิศเหนือติดที่ดินเลขที่เท่าใด(ที่นา), ทิศใต้จดที่ดินเมืองแก้วมณี  ทิศตะวันออกติดถนนสาธารณะเลียบคลองสาม ทิศตะวันตกจดคลองแอน เป็นต้น แต่ในโฉนดจะเขียนเป็นเลขที่ที่ดินนะครับ

ถ้าหากในโฉนดที่ดินที่ถูกรื้อถอนรั้วของวัดพระธรรมกาย ระบุว่าที่ดินด้านทิศตะวันตกติดคลองแอน แสดงว่าวัดพระธรรมกายเป็นเจ้าของที่ดินจนติดริมคลองแอน ถนนที่สร้างขึ้นจึงเป็นถนนในที่ดินของวัดเอง  จึงไม่มีโอกาสพิจารณาได้ว่าเป็นพื้นที่ทางสาธารณะ ตามแนวคำพิพากษาฎีกานี้ครับ

​#คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3024/2556  คำพิพากษาย่อสั้น
​ทางหรือถนนซึ่งเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน อันจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ย่อมต้องเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน  หาได้หมายความรวมถึงทางหรือถนนอันเป็นทรัพย์ของเอกชนหรืออยู่ในที่ดินของเอกชนด้วยไม่

​#ด้วยแนวทางคำพิพากษานี้   
การขอคืนพื้นที่ในวันที่ 27 ธันวาคม 2559 กลับกลายเป็นตำรวจขอคืนพื้นที่ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดพระธรรมกายซึ่งไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน  เป็นเหตุให้มีการบุกรุกเข้าในพื้นที่ส่วนบุคคลซึ่งมีโทษตามกฎหมายอาญาดังนี้

​มาตรา 365 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 362(บุกรุก) มาตรา 363 หรือ มาตรา 364 ได้กระทำ
​(1) โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
​(2) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคน ขึ้นไป หรือ ​ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

​#เรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ติดกับแนวแม่น้ำ ลำคลอง มี ระเบียบกรมเจ้าท่าว่าด้วยการระวังชี้และลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินพ.ศ. ๒๕๕๘ ระบุไว้โดยย่อดังนี้​

​ข้อ ๔ การระวังชี้และลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินที่มิใช่ที่ดินของรัฐซึ่งมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน....เจ้าของที่ดินนำชี้หลักเขตที่ดินหรือแนวเขตที่ดินด้านที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ และทะเลภายในน่านน้ำไทยและให้ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

​(๑) ถ้าพบหลักเขตที่ดินอยู่บนฝั่งที่ดิน.......และถูกต้องตามเอกสารหลักฐาน ก็ให้ถือว่าหลักเขตที่ดินดังกล่าวเป็นแนวระวังชี้และลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดิน

​(๒) ถ้าไม่พบหลักเขตที่ดิน ให้แจ้งช่างรังวัดทำการตรวจสอบรังวัดตามระเบียบกรมที่ดินโดยให้สอบเขตจากหลักเขตหรือแนวเขตด้านบนก่อน แล้วให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

​ (ข) ในกรณีแนวเขตอยู่ล้ำเข้าไปในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ และทะเลภายในน่านน้ำไทย เนื่องจากถูกน้ำกัดเซาะ ให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์สอบสวนว่าที่ดินที่ถูกน้ำกัดเซาะยังคงเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองอยู่โดยเจ้าของที่ดินได้ครอบครองหรือแสดงสิทธิในการหวงกันอย่างต่อเนื่องหรือไม่

​สรุปว่า
หลักเขตที่ดินอยู่ตรงไหนกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินอยู่ถึงตรงนั้น ไม่ว่าจะอยู่บนดินหรือในน้ำก็ยังเป็นพื้นที่ของเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย  ซึ่งกรณีนี้มีกฎหมายเรื่องที่งอกริมตลิ่งรองรับด้วย

​#อย่างนี้เป็นประเด็นเลยว่าตำรวจบุกรุกที่วัดพระธรรมกายและทำให้เสียทรัพย์โดยทำการตัดประตูไปด้วยใช่หรือไม่ ?

เพราะทั้งที่ดินและประตูรั้วเป็นทรัพย์ของวัดพระธรรมกายแม้จะอยู่ติดคลองแอน แต่ก็อยู่ในพื้นที่กรรมสิทธิ์ของวัดพระธรรมกาย  ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ

​ส่วนที่ผู้รู้หลายท่านบอกว่าต้องเว้นพื้นที่ริมตลิ่งไว้เป็นที่สาธารณะ 3 เมตรบ้าง 6 เมตร ตามความกว้างของคลองนั้น ผมยังหาข้อกฎหมายนั้นไม่เจอเลยครับ  

​แต่มีกำหนดไว้ในกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 55(พ.ศ.2543)ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร  พ.ศ.2522  หมวด 4 เรื่อง แนวอาคารและระยะต่างๆของอาคาร เขียนไว้ดังนี้

ข้อ 42 อาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงใกล้แหล่งน้ำสาธารณะ เช่น แม่น้ำ คู คลอง ลำราง หรือลำกระโดง ถ้าแหล่งน้ำสาธารณะนั้นมีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ต้องร่นแนวอาคารให้ห่างจากเขตแหล่งน้ำสาธารณะนั้นไม่น้อยกว่า 3 เมตร แต่ ถ้าแหล่งน้ำสาธารณะนั้นมีความกว้างตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป ต้องร่นแนวอาคารให้ห่างจากเขตแหล่งน้ำสาธารณะนั้นไม่น้อยกว่า6 เมตร 

​ถ้าอ่านเท่านี้ก็สรุปได้ว่า 
วัดพระธรรมกายสร้างรั้ว(ที่ถูกรื้อประตู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรั้วไป) โดยไม่ร่นแนวอาคารให้ ไม่น้อยกว่า 3 หรือ 6 เมตร ตามกฎกระทรวง ซึ่งมีความผิดใช่ไหมครับ

​        ไม่ต้องสงสัยนะครับว่าทำไมรั้วเป็นอาคารด้วยหรือ ?
เนื่องจากในกฎกระทรวงกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) กำหนดเรื่องการสร้างรั้วไว้ ในข้อกำหนดเรื่องการสร้างอาคารด้วย เลยตีความว่า “รั้วเป็นอาคาร”

​#แต่ในข้อเท็จจริงไม่ได้สรุปว่าวัดพระธรรมกายสร้างรั้ว(ที่ถูกรื้อ)โดยไม่ร่นแนวอาคารมีความผิดนะครับ เนื่องจากในกฎกระทรวงข้อ 42 ที่อ้างถึงนี้   เขียนในวรรคท้ายไว้ว่า

​“ทั้งนี้ เว้นแต่ สะพาน เขื่อน รั้ว ท่อระบายน้ำ ท่าเรือ ป้าย อู่เรือ คานเรือ หรือที่ว่างที่ใช้เป็นที่จอดรถไม่ต้องร่นแนวอาคาร”

​#ซึ่งในกรณีอย่างนี้ถ้าใช้กฎหมายปกครองท้องถิ่น ให้ อบต.มาพิสูจน์ทราบกันก่อนเรื่องก็จบแล้วครับ ไม่เห็นต้องยกกำลังกันให้เอิกเกริกเลยครับ

​# ทำให้มาถึงบทสรุปในตอนนี้ได้ว่า
​1.ถ้าพื้นที่ที่ถูกรื้อถอนรั้วเป็นพื้นที่ในโฉนดที่ดินของวัดพระธรรมกาย ย่อมไม่เป็นพื้นที่ทางสาธารณะอย่างแน่นอน เพราะเป็นถนนในที่ดินเป็นของวัดพระธรรมกายเอง ตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 3024/2556

​2.การสร้างรั้วรวมถึงประตูรั้ว ในที่ดินของตนเองไม่ต้องมีระยะร่นตามกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร  พ.ศ.2522  หมวด 4 ข้อ 42 วรรคท้าย จึงเป็นการสร้างโดยชอบด้วยกฎหมาย

        ​ปริศนาชวนคิดและศึกษาไว้เป็นบทเรียนของชาวเราคือ  

​# ในเมื่อพื้นที่นี้เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดพระธรรมกายไม่ใช่พื้นที่ทางสาธารณะ   การที่ตำรวจเข้ามารื้อถอนรั้ว ซึ่งก่อสร้างโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นการบุกรุกที่ส่วนบุคคลและทำให้เสียทรัพย์กับทั้งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ? ให้คิดเองนะครับ



​ส่วนเรื่องที่ว่า ใครต้องรับผิดในเรื่องนี้ !!??
ติดตามตอนจบต่อไปนะครับ

วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2560

เมื่อตำรวจใช้กฏหมายหนักสุดคือคดีอาญากับวัดพระธรรมกาย ก็อาจถูกวัดพระธรรมกายย้อนเกล็ดแบบไม่รู้เกิดก็ได้นะครับ

​​​​​  ​​คนสองยุค   ตอนที่ 2
--------------------------------------------------_------------------_
​ตามที่ได้ตั้งข้อสงสัยเรื่องอำนาจในการร้องทุกข์ดำเนินคดีของกรมธนารักษ์ ในการขอคืนพื้นที่ทางสาธารณะจากวัดพระธรรมกาย หรืออีกนัยหนึ่งคือ “กล่าวหา” ว่าวัดพระธรรมกายบุกรุกทางสาธารณะ  ในตอนที่แล้วว่า กรมธนารักษ์   ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางสาธารณะที่อยู่ในบริเวณใกล้กับวัดพระธรรมกาย ตามที่นายตำรวจใหญ่ให้สัมภาษณ์แล้ว



​ก่อนที่จะพิสูจน์ทราบกันต่อไป ผมขออธิบายคำว่า “ผู้ถูกกล่าวหา” เพื่อไม่ให้นำไปขยายความกันผิดๆดังนี้นะครับ

---------------------------------------------
​“ผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิด” 
มีอยู่ ๒ ฐานะ คือ

            ​1.ฐานะผู้ต้องหา โดยถูกหาว่าได้ทำผิดแต่ยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาล กับ

             ​2.ฐานะจำเลย คือ ผู้ถูกกล่าวหาว่าได้ทำผิดอาญาซึ่งได้ถูกฟ้องศาลแล้ว

โดยที่คนทุกคน 
ย่อมได้รับความคุ้มครอง
ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน 


ดังนั้น ในกรณีของคนที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดอาญาจึงได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำผิด
----------------------------------------------

เจ้าหน้าที่จะต้องปฎิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาซึ่งได้รับการสันนิษฐานไว้แล้วว่า “เป็นผู้บริสุทธิ์” อย่างมีมนุษยธรรมและตามความเหมาะสม 

และต้องได้รับการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่และศาลอย่างเป็นธรรมและเปิดเผยในความผิดที่ตนถูกกล่าวหาอีกด้วย

          ​ชัดเจนนะครับ  ว่าตราบใดที่ “ศาลยังไม่ได้มีพิพากษาถึงที่สุด” ซึ่งหมายความถึงมีคำพิพากษาจากศาลฎีกาว่าได้กระทำผิด  ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่  

ใครไปขยายความผิดๆว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำผิดจะถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทได้นะครับ
-------------------------

​มาเข้าเรื่องการกล่าวหาว่าวัดพระธรรมกายบุกรุกทางสาธารณะต่อกันดีกว่าครับ

​เรามาตั้งหัวข้อสนทนาว่า ถ้าพื้นที่ที่วัดพระธรรมกายถูกกล่าวหาว่าบุกรุกเป็นพื้นที่สาธารณะจริง  ใครล่ะควรเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษวัดพระธรรมกาย ?

​เมื่อค้นข้อกฎหมายต่อไปก็พบ “ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ. ๒๕๕๓” เขียนไว้ยังงี้ครับ

​ข้อ ๕ ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันที่อยู่ในบังคับของระเบียบนี้  หมายถึง ที่ดินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าเป็นโดยสภาพธรรมชาติโดยการใช้ร่วมกันของประชาชน โดยทางนิติกรรม หรือโดยผลของกฎหมาย เช่น ที่ชายตลิ่ง ที่ป่าช้า ทางบก  ทางน้ำ สวนสาธารณะ ที่เลี้ยงสัตว์ และที่สาธารณะประจำตำบลหรือหมู่บ้าน

​ข้อ ๖ อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินตามข้อ ๕ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

​เป็นที่ชัดเจนว่า หากพื้นที่ที่วัดพระธรรมกายถูกกล่าวหาว่าบุกรุกใช้ประโยชน์เป็นที่สาธารณะจริง  ผู้ที่จะไปร้องทุกข์กล่าวโทษคือชาวบ้านหรือประชาชนทั่วไปที่เสียประโยชน์จากการที่วัดพระธรรมกายบุกรุกนั้น    

ซึ่งในคำให้สัมภาษณ์ของนายตำรวจใหญ่ไม่พบว่ามีชาวบ้านหรือผู้เสียหายอื่นยื่นเรื่องราวร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจ   นอกจาก กรมธนารักษ์ ซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย หรือผู้มีอำนาจร้องทุกข์กล่าวโทษวัดพระธรรมกายถูก

------------------------------
​#แล้วผู้เสียหายจะไปร้องทุกข์กับใคร ? 
  ตำรวจใช่ไหม ?
----------------------------------------------

​ถ้าดูจากระเบียบกระทรวงมหาดไทยข้างต้นจะเห็นได้ว่า  ต้องไปร้องกับผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินตามข้อ ๖ คือ นายอำเภอหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (หมายถึง อบต.) 
ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ไม่ใช่กฎหมายอาญาครับ

​#ข้อสังเกตุอีกประการหนึ่งคือระเบียบกระทรวงมหาดไทย มุ่งหวังจะใช้หลักทางการปกครองเข้าแก้ปัญหาในลักษณะนี้ เพราะ กฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ จึงกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทางฝ่ายปกครองซึ่งหมายถึงนายอำเภอหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (หมายถึง อบต.) เป็นผู้แก้ปัญหานี้

​เอาให้ชัดๆเลยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พุทธศักราช ๒๔๕๗ เขียนยังงี้ครับ

​มาตรา ๑๒๒ นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครอง ป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อื่นอันอยู่ในเขตอำเภอ

​ซึ่งเมื่อนำมาประกอบกับ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ. ๒๕๕๓” ที่เขียนว่า

​ข้อ ๖ อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินตามข้อ ๕ (ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน) ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

*** ​ก็ยิ่งชัดเจนครับว่า นายอำเภอหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (หมายถึง อบต.) จะต้องเป็นผู้ดำเนินการระงับข้อพิพาท หรือร้องทุกข์กล่าวโทษในกรณีบุกรุกที่สาธารณะ ไม่ใช่กรมธนารักษ์ครับ ***
---------------------------------
​#แล้วกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ดำเนินการอย่างไร ?
---------------------------------

​ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ. ๒๕๕๓  ข้อ 6 วรรค 2 เขียนว่า

​ในกรณีมีข้อพิพาทหรือคดีเกี่ยวกับที่ดินตามวรรคหนึ่ง (หมายถึงพื้นที่สาธารณะ)ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการระงับข้อพิพาทหรือร้องทุกข์กล่าวโทษภายในสามสิบวัน นับแต่รู้เหตุแห่งข้อพิพาทหรือคดีนั้น

​ครับได้ข้อยุติเสียทีว่าในกรณีบุกรุกที่ดินสาธารณสมบัติ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้เริ่มดำเนินการระงับข้อพิพาทหรือร้องทุกข์กล่าวโทษ


 *** ซึ่งก็หมายความว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจะสั่งให้ผู้บุกรุกทำการรื้อถอนหรือแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 30 วัน หากไม่ดำเนินการ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจหรือฟ้องศาลต่อไป ***


---------------------------------
​# ตำรวจจึงจะมีหน้าที่เข้ามาดำเนินการได้ในตอนนี้หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปร้องทุกข์กล่าวโทษแล้วเท่านั้นครับ
---------------------------------

​กรณีองค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีในที่สาธารณสมบัติแผ่นดินมีคำพิพากษาฎีกา ที่ 2424/2542 ไว้เป็นบรรทัดฐานดังนี้ครับ


คำพิพากษาย่อสั้น 
​โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยโดยบรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินสาธารณะ โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียน ป. อันเป็นสถานศึกษาในสังกัดของโจทก์ ......

“......ทรัพย์สินของแผ่นดินมี 2 ประเภท คือ ทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดาซึ่งเป็นของรัฐ กับสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมีลักษณะสำคัญอยู่ที่ว่าใช้เพื่อสาธาณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ฉะนั้น ทรัพย์สิน ของแผ่นดินที่จะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่นั้น จึงขึ้นอยู่กับสภาพของทรัพย์สินนั้นเองว่าใช้เพื่อ สาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่........” 

---------------------------------
      ***  ​ สรุป  ได้ว่าคดีบุกรุกที่สาธารณะในเบื้องต้นตำรวจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย เว้นแต่หากนายอำเภอหรือ อบต.แก้ไขปัญหาไม่ได้และไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจ ก็อีกเรื่องหนึ่งซึ่งก็ไม่แน่ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะใช้บริการของตำรวจหรือจะฟ้องต่อศาลโดยตรง ***
---------------------------------

​มาถึงตรงนี้เมื่ออ่านคำวินิจฉัยของศาลในตอนท้ายที่ว่า ” ทรัพย์สิน ของแผ่นดินที่จะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่นั้น จึงขึ้นอยู่กับสภาพของทรัพย์สินนั้นเองว่าใช้เพื่อ สาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่”

​ทำให้อยากรู้ขึ้นมาทันทีว่าพื้นที่ที่วัดพระธรรมกายถูกกล่าวหาว่าบุกรุกเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามที่ตำรวจตั้งข้อกล่าวหาหรือไม่ ?

---------------------------------
เพราะถ้าหากไม่ใช่พื้นที่สาธารณะตามที่กล่าวหา ตำรวจและผู้เกี่ยวข้องจะโดนฟ้องข้อหาบุกรุกเสียเองไหม ? 
---------------------------------




มาสืบสวนร่วมกันในตอนต่อไปนะครับ 
​# มีข้อน่าคิดว่าการดำเนินการกับวัดพระธรรมกายซึ่งเป็นวัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ทำไมไม่ใช้กฎหมายปกครองท้องถิ่นที่มีความนุ่มนวลเจรจาให้แก้ไขให้ถูก ?

    *** #ส่วนในกรณีใช้กฎหมายหนักคือกฎหมายอาญา ดำเนินคดีในเรื่องนี้ผมมีคำตอบให้ครับว่า ที่ตำรวจมาติดหมายอาญานั้น อาจจะถูกวัดพระธรรมการย้อนเกล็ดแบบไม่รู้เกิดเลยก็ได้นะครับ ***
  
​#ประเด็นนี้น่าสนใจมากกกกก สิบอกให้ เพราะหากมีใครมายัดคดีอาญาให้เราเพราะบุกรุกที่สาธารณะ  ต้องถูกสวนแรงๆครับ ส่วนวัดพระธรรมกายจะคิดอย่างไร ก็สุดแต่ครับ

วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2560

ตำรวจขอคืนพื้นที่สาธารณะจากวัดพระธรรมกาย ทำได้หรือ ? ใครคือเจ้าทุกข์ !!!?


 ​​​​​คนสองยุค  ตอนที่ 1
-----------------------------------------------
​ผมเกิดพุทธศตวรรษที่24 ในยุคถิ่นกาขาว มีความรู้กฎหมายไทยพื้นฐานเหมือนทุกท่านที่ต้องรู้   มีใบอนุญาตให้เป็นทนายความ แต่ไม่ประกอบอาชีพทนายความ 

สาเหตุที่ศึกษากฎหมายเพราะได้อ่านหนังสือพบ หลักกฎหมายไทยว่า “ความไม่รู้กฎหมาย จะอ้างเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้” แม้จะมีข้อยกเว้นบางประการให้ยกขึ้นอ้างได้และพิสูจน์ได้ว่าไม่รู้กฎหมายจริง ก็เป็นเหตุให้เพียงลดโทษเท่านั้น  ศาลจะไม่ลงโทษเลยไม่ได้ 


​สรุป คือจะรู้กฎหมายหรือไม่ก็ตาม 
หากกระทำความผิดต้องถูกลงโทษ  
ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก 

จึงต้องศึกษากฎหมายไว้ป้องกันตัว
และให้เป็นวิทยาทานแก่คนที่ไม่รู้

​...........................................

มาถึงพุทธศตวรรษที่ 25 ยุคชาวศิวิไลซ์ในปัจจุบัน  จากข่าวสารต่างๆที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่า  มีการนำกฎหมายมาใช้ในลักษณะแปลกๆไม่เหมือนในอดีต และเป็นข้อกฎหมายที่ใกล้ตัวเราทุกคน ที่อาจเกิดกับคนทั่วไปอย่างเราๆได้ทุกเมื่อ โดยอาจกระทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเหตุใดก็ตาม ก็ต้องถูกลงโทษอยู่ดี ตามหลักกฎหมายไทย ที่กล่าวมาแล้ว 


จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนเรื่องนี้ขึ้น
โดยอาศัยข้อมูลจากข่าวสาร
ที่เผยแผ่ทั่วไปในปัจจุบัน


***  อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยผมมีความรู้ทางกฎหมายในเบื้องต้นเท่านั้น หากความเห็นใดๆที่นำเสนอไปไม่ชอบโดยข้อกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ผมขอรับคำชี้แนะจากผู้รู้ทุกท่านด้วย เพื่อประดับสติปัญญาและเป็นวิทยาทานแก่ประชาชนทั่วไปด้วยนะครับ  ***


​วันนี้ข่าวที่ใหญ่ที่สุดเป็นที่รู้กันทั่วไปทั่วโลกเพราะมีการลงในสื่อมากมายและเป็นมานานซึ่งจะทำให้ทุกคนเข้าใจความเป็นมาได้ง่ายคือข่าวของวัดพระธรรมกาย 


ผมจะขอเริ่มด้วยการ


ขอคืนพื้นที่สาธารณะ
ของตำรวจจากวัดพระธรรมกาย  

เพราะบังเอิญผมมีทีดินติดถนนสาธารณะอยู่แปลงหนึ่งและเชื่อว่าหลายท่านคงอาจสนใจเรื่องนี้เพราะโดยปกติที่ดินติดถนนสาธารณะหรือพื้นที่สาธารณะย่อมเป็นที่ดินที่สวยงาม ใช้ประโยชน์ได้มาก และมีลักษณะพิเศษในตัวที่อาจทำให้เราทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัวได้ครับ

     ​จากข่าวใหญ่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ที่เขียนว่า มีนายตำรวจผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเปิดเผยถึง กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 1 กว่า 5 กองร้อย และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และเจ้าหน้าที่ทหารสนธิกำลังขอคืนพื้นที่โดยรอบวัดพระธรรมกายตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ว่า “วันนี้เป็นปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ทางสาธารณะที่อยู่ในบริเวณใกล้กับวัดพระธรรมกาย ตามที่เจ้าหน้าที่ธนารักษ์จังหวัดได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ”

​คำว่าพื้นที่ทางสาธารณะทำให้นึกถึงทีดินติดถนนสาธารณะของผมเอง และเมื่อดูคำให้สัมภาษณ์แล้วคิดว่า  คดีบุกรุกที่สาธารณะที่ทำให้ตำรวจต้องมาขอพื้นที่คืนต้องเป็นคดีที่มีความผิดร้ายแรงมีโทษสูงมากทีเดียว   เพราะต้องใช้กำลังตำรวจในการขอคืนพื้นที่มากกว่า 5 กองร้อย  และยังมีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ  พร้อมกำลังทหารอีกต่างหาก

​สงสัยไหมครับว่า กำลังกว่า 5 กองร้อยมากแค่ไหน เท่าที่รู้มาเขาคิดอย่างนี้ครับ การจัดกำลังพลของทหาร 1 กองร้อยมีทหาร 176 คน ถ้าเป็นตำรวจ 1 กองร้อย จะมีตำรวจ 150 คน ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลทั่วไปหาดูได้ตามสื่อครับ

​จากข่าวการให้สัมภาษณ์ซึ่งไม่แน่ชัดว่าใช้กำลังส่วนไหนเท่าไหร่ เอาเป็นว่าใช้ตำรวจ 5 กองร้อยตามที่นายตำรวจใหญ่ให้สัมภาษณ์มาก็แล้วกัน  ทำให้ คำนวณเฉพาะกำลังตำรวจ ได้ (5*150) 750 คน ไม่รวมส่วนที่มากกว่า และเจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ กับทหารนะครับ   

เรื่องบุกรุกที่ดินสาธารณะไม่ร้ายแรงได้อย่างไรเพราะต้องใช้กำลังตำรวจมากขนาดนี้

.............................
​เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
.............................
​ 
พิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์ของนายตำรวจใหญ่บอกว่า “มาขอคืนพื้นที่ตามที่ เจ้าหน้าที่ธนารักษ์จังหวัดได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ” 
   
แสดงว่า กรมธนารักษ์  กระทรวงการคลังเป็น “ผู้เสียหาย” เพราะเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจ ในคดีบุกรุกซึ่งเป็นคดีมีโทษทางอาญา

​ทำให้สงสัยคำว่า “ทางสาธารณะ” หมายถึงอะไรถึงทำให้ กรมธนารักษ์  เป็นผู้เสียหายในกรณีร้องทุกข์ ทางที่ใช้กันทั่วๆไปน่าจะมีผู้ดูแลคือ กรมทางหลวง ในพื้นที่ทางหลวงหรือ กรมทางหลวงชนบทในพื้นที่ทางหลวงชนบท หรือ อบต. ในพื้นที่ถนนในความดูแลของ อบต.ไม่ใช่หรือ  ???

แล้วกรมธนารักษ์มีหน้าที่ดูแลที่ราชพัสดุมาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ได้ยังไง  หรือว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ราชพัสดุ เมื่อค้นดูก็พบกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้

          ​1.กฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์ เกี่ยวกับที่ราชพัสดุพ.ศ. ๒๕๔๕ ( ฉบับปรับปรุง )​

​          ข้อ ๑๑ เพื่อประโยชน์ในการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ รวมทั้งการปกครอง ดูแล และบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ ให้กรมธนารักษ์มีอำนาจดำเนินการแทนกระทรวงการคลังในเรื่องดังต่อไปนี้

           ​(๒) ดำเนินคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง และคดีอื่นๆเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ และทรัพย์สินในที่ราชพัสดุ

​ดูกฎกระทรวงการคลังข้อนี้แล้วสรุปได้ว่า “ กรมธนารักษ์มีอำนาจดำเนินคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง และคดีอื่นๆเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ และทรัพย์สินในที่ราชพัสดุ” ​แล้วที่ราชพัสดุคือที่ไหนบ้าง  ที่ดินตรงนี้ต้องเป็นที่ราชพัสดุแน่ๆเลย กรมธนารักษ์จึงเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ก็ค้นต่อพบพระราชบัญญัติ ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 เขียนไว้ว่า

​มาตรา 4 ที่ราชพัสดุ หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิดเว้นแต่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังต่อไปนี้

           ​(1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่าและที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน
           ​(2) อสังหาริมทรัพย์สำหรับพลเมืองใช้หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้น ว่าที่ ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ส่วนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล และขององค์ การปกครองท้องถิ่นไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ

สรุป  ในช่วงนี้ได้ว่า กรมธนารักษ์มีอำนาจดำเนินคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง และคดีอื่นๆเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ และทรัพย์สินในที่ราชพัสดุ “ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามมาตรา 4(2) พระราชบัญญัติ ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518” จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในเรื่องนี้

ดังนั้น ที่นายตำรวจใหญ่ให้สัมภาษณ์ว่า “มาทวงทางสาธารณะสมบัติคืนตามที่กรมธนารักษ์ร้องทุกข์”  น่าจะมีปัญหาแล้ว  เพราะกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ให้คำนิยามว่า

​           “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้


​และโดยหลักการดำเนินคดีทั่วไป

ผู้ที่จะดำเนินคดีได้คือ ผู้เสียหาย  
ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย  
ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา   
ผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายให้ดำเนินคดี   

ซึ่งจะเห็นได้ชัดเพราะตำรวจอ้างว่ามาตามที่มีผู้ร้องทุกข์ไม่ได้มาเองนะ ​จึงมีคำถามว่า เมื่อกรมธนารักษ์ไม่มีอำนาจดำเนินคดีในพื้นที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน  จึงไม่เป็นผู้เสียหายในเรื่องนี้  

ทำไมตำรวจจึงรับเรื่องราวร้องทุกข์กล่าวโทษจากกรมธนารักษ์ ตามที่นายตำรวจใหญ่ท่านนั้นให้สัมภาษณ์มาข้างต้น 

   >> การดำเนินการครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  ??

   >> เป็นการเริ่มต้นที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ?? 

เพราะตำรวจต้องรู้ดีว่าคนที่มีอำนาจให้ดำเนินคดีได้เป็นใคร   เมื่อคนร้องทุกข์ไม่มีอำนาจ ตำรวจใช้อำนาจอะไรมาขอคืนพื้นที่   

ถ้าเป็นอย่างนี้ทั้งกรมธนารักษ์และตำรวจ ที่เข้ามาดำเนินการโดยไม่มีอำนาจจะมีความผิดเรื่องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไหม ??

        เรื่องนี้น่าสนใจมากเพราะหากเกิดขึ้นกับตัวเราเองแล้วเราต้องตรวจสอบให้ชัดเจน  การที่ตำรวจเข้าดำเนินการใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไปครับ

​ส่วนกรณีศึกษาเรื่องการกล่าวหาว่าวัดพระธรรมกายบุกรุกที่สาธารณะ แล้วใครเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดี ที่แท้จริง มีขั้นตอนดำเนินการที่ถูกต้องอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ