วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2560

ปริศนาชวนคิด เมื่อพื้นที่ที่ขอคืนเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดพระธรรมกาย ไม่ใช่พื้นที่ทางสาธารณะ ใครต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ?

​​​​​  ​​คนสองยุค     ตอนที่ 3
--------------------------------------------------_-

​เมื่อตอนที่แล้วได้ตั้งข้อสงสัยไว้ว่า พื้นที่ที่วัดพระธรรมกาย “ถูกกล่าวหา” ว่าบุกรุก นั้น  มีการใช้ร่วมกันในลักษณะเป็นพื้นที่ทางสาธารณะจริงหรือไม่ ?

​เพื่อให้กระจ่างขอให้พิจารณาภาพถ่ายทางอากาศพื้นที่เกิดเหตุรื้อถอนตามรูปนี้ครับ



​ดูจากรูปจะเห็นว่าพื้นที่รื้อถอนอยู่ริมคลองแอน(แนวสีเขียวตามถนน)ฝั่งพื้นที่วัดพระธรรมกาย ที่เห็นเป็นถนนลูกรังขนานไปกับคลองและมีการไถปรับพื้นที่ของวัดอยู่ (ฝั่งขวามือตามรูป) ส่วนถนนสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันอยู่ฝั่งมูลนิธิธรรมกาย ติดรั้วของมูลนิธิ (ฝั่งซ้ายมือตามรูป) นะครับ

.................................
​พื้นที่ที่ถูกล่าวหา คือ 
ถนนลูกรังซึ่งวัดสร้างขึ้นในพื้นที่
ตามโฉนดของวัด  

เพื่อความสะดวกในการก่อสร้าง  
ป้องกันไม่ให้รถขนของหนักวิ่งบนถนนสาธารณะ
เพราะจะทำให้ถนนชำรุด
สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนทั่วไป 

น่าจะเป็นการสร้างประโยชน์
ให้ประชาชนมากกว่าความเดือดร้อน
.................................

​อย่างไรก็ตามเมื่อคลองแอนมีสภาพเป็นคลอง ก็ต้องมีริมตลิ่ง ซึ่งอาจใช้เป็นที่สาธารณะได้ตามระเบียบที่กล่าวข้างต้น  และเมื่อดูตามรูปถ่ายพื้นที่ที่วัดพระธรรมกายใช้อยู่ติดริมคลองแอนไม่ได้เว้นพื้นที่ไว้เลย 

สรุปได้ไหมว่า “วัดพระธรรมกายใช้พื้นที่ริมตลิ่งซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” ?

​#ยังสรุปไม่ได้ครับเพราะ
​ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ. ๒๕๕๓

​ข้อ ๕ ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันที่อยู่ในบังคับของระเบียบนี้  หมายถึง ที่ดินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าเป็นโดยสภาพธรรมชาติโดยการใช้ร่วมกันของประชาชน

​ข้อ ๑๒  การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินตามข้อ ๕....ให้เป็นหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาให้การสนับสนุนในการดำเนินการด้วย

​# สรุปในประเด็นนี้คือ 
ถ้าวัดพระธรรมกายโต้แย้งว่าพื้นที่พิพาทไม่ใช่ที่สาธารณะ เป็นที่ในกรรมสิทธิ์ของวัดพระธรรมกาย ไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดิน นายอำเภอและ อบต.ต้องร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

​ประเด็นที่เขียนมานี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าที่ริมคลองสาธารณะไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะเสมอไป เพราะเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่องนี้ไว้ดังนี้ครับ

​# คำพิพากษาศาลฎีกาที่  244/2545  คำพิพากษาย่อสั้น
​ทรัพย์ของแผ่นดินจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพของตัวทรัพย์นั้นว่าราษฎรได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่  

​ซึ่งเมื่อดูตามภาพถ่ายแล้วพื้นที่ทางดังกล่าว  เป็นพื้นที่ริมตลิ่งคลองแอนด้านขวามือที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ของบุคคลอื่น  มีผู้ใช้ประโยชน์คือวัดพระธรรมกายรายเดียวที่สร้างถนนชั่วคราวในที่ดินของตนเองเพื่อการก่อสร้างเท่านั้น จึงไม่มีสภาพใช้ประโยชน์ร่วมกัน

​ส่วนพื้นที่ทางสาธารณะที่ใช้ร่วมกันคือถนนลาดยางฝั่งคลองด้านซ้าย และเป็นที่ชัดเจนว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองด้านขวาจะสร้างสะพานข้ามไปใช้ถนนสาธารณะด้านซ้าย  พิสูจน์ได้ว่า “ริมคลองด้านขวาไม่มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันในเชิงสาธารณะ” ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ก็น่าจะไม่เข้าข่ายพื้นที่ทางสาธารณะสมบัติตามแนวคำพิพากษาฎีกาข้างต้นนะครับ


​#แต่ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ
กว่าเรื่องพื้นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินคือ 

ประเด็นที่ว่าหากพื้นที่พิพาทนี้ “เป็นพื้นที่มีโฉนดของวัดพระธรรมกาย” ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ 100% 

เพราะโดยปกติการออกโฉนดจะกำหนดว่าทิศใดจดอะไรเช่น ในกรณีที่ดินวัดพระธรรมกาย นี้พอจะวิเคราะห์ได้ว่า ในโฉนดควรจะระบุว่าทิศเหนือติดที่ดินเลขที่เท่าใด(ที่นา), ทิศใต้จดที่ดินเมืองแก้วมณี  ทิศตะวันออกติดถนนสาธารณะเลียบคลองสาม ทิศตะวันตกจดคลองแอน เป็นต้น แต่ในโฉนดจะเขียนเป็นเลขที่ที่ดินนะครับ

ถ้าหากในโฉนดที่ดินที่ถูกรื้อถอนรั้วของวัดพระธรรมกาย ระบุว่าที่ดินด้านทิศตะวันตกติดคลองแอน แสดงว่าวัดพระธรรมกายเป็นเจ้าของที่ดินจนติดริมคลองแอน ถนนที่สร้างขึ้นจึงเป็นถนนในที่ดินของวัดเอง  จึงไม่มีโอกาสพิจารณาได้ว่าเป็นพื้นที่ทางสาธารณะ ตามแนวคำพิพากษาฎีกานี้ครับ

​#คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3024/2556  คำพิพากษาย่อสั้น
​ทางหรือถนนซึ่งเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน อันจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ย่อมต้องเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน  หาได้หมายความรวมถึงทางหรือถนนอันเป็นทรัพย์ของเอกชนหรืออยู่ในที่ดินของเอกชนด้วยไม่

​#ด้วยแนวทางคำพิพากษานี้   
การขอคืนพื้นที่ในวันที่ 27 ธันวาคม 2559 กลับกลายเป็นตำรวจขอคืนพื้นที่ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดพระธรรมกายซึ่งไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน  เป็นเหตุให้มีการบุกรุกเข้าในพื้นที่ส่วนบุคคลซึ่งมีโทษตามกฎหมายอาญาดังนี้

​มาตรา 365 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 362(บุกรุก) มาตรา 363 หรือ มาตรา 364 ได้กระทำ
​(1) โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
​(2) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคน ขึ้นไป หรือ ​ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

​#เรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ติดกับแนวแม่น้ำ ลำคลอง มี ระเบียบกรมเจ้าท่าว่าด้วยการระวังชี้และลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินพ.ศ. ๒๕๕๘ ระบุไว้โดยย่อดังนี้​

​ข้อ ๔ การระวังชี้และลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินที่มิใช่ที่ดินของรัฐซึ่งมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน....เจ้าของที่ดินนำชี้หลักเขตที่ดินหรือแนวเขตที่ดินด้านที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ และทะเลภายในน่านน้ำไทยและให้ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

​(๑) ถ้าพบหลักเขตที่ดินอยู่บนฝั่งที่ดิน.......และถูกต้องตามเอกสารหลักฐาน ก็ให้ถือว่าหลักเขตที่ดินดังกล่าวเป็นแนวระวังชี้และลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดิน

​(๒) ถ้าไม่พบหลักเขตที่ดิน ให้แจ้งช่างรังวัดทำการตรวจสอบรังวัดตามระเบียบกรมที่ดินโดยให้สอบเขตจากหลักเขตหรือแนวเขตด้านบนก่อน แล้วให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

​ (ข) ในกรณีแนวเขตอยู่ล้ำเข้าไปในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ และทะเลภายในน่านน้ำไทย เนื่องจากถูกน้ำกัดเซาะ ให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์สอบสวนว่าที่ดินที่ถูกน้ำกัดเซาะยังคงเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองอยู่โดยเจ้าของที่ดินได้ครอบครองหรือแสดงสิทธิในการหวงกันอย่างต่อเนื่องหรือไม่

​สรุปว่า
หลักเขตที่ดินอยู่ตรงไหนกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินอยู่ถึงตรงนั้น ไม่ว่าจะอยู่บนดินหรือในน้ำก็ยังเป็นพื้นที่ของเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย  ซึ่งกรณีนี้มีกฎหมายเรื่องที่งอกริมตลิ่งรองรับด้วย

​#อย่างนี้เป็นประเด็นเลยว่าตำรวจบุกรุกที่วัดพระธรรมกายและทำให้เสียทรัพย์โดยทำการตัดประตูไปด้วยใช่หรือไม่ ?

เพราะทั้งที่ดินและประตูรั้วเป็นทรัพย์ของวัดพระธรรมกายแม้จะอยู่ติดคลองแอน แต่ก็อยู่ในพื้นที่กรรมสิทธิ์ของวัดพระธรรมกาย  ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ

​ส่วนที่ผู้รู้หลายท่านบอกว่าต้องเว้นพื้นที่ริมตลิ่งไว้เป็นที่สาธารณะ 3 เมตรบ้าง 6 เมตร ตามความกว้างของคลองนั้น ผมยังหาข้อกฎหมายนั้นไม่เจอเลยครับ  

​แต่มีกำหนดไว้ในกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 55(พ.ศ.2543)ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร  พ.ศ.2522  หมวด 4 เรื่อง แนวอาคารและระยะต่างๆของอาคาร เขียนไว้ดังนี้

ข้อ 42 อาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงใกล้แหล่งน้ำสาธารณะ เช่น แม่น้ำ คู คลอง ลำราง หรือลำกระโดง ถ้าแหล่งน้ำสาธารณะนั้นมีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ต้องร่นแนวอาคารให้ห่างจากเขตแหล่งน้ำสาธารณะนั้นไม่น้อยกว่า 3 เมตร แต่ ถ้าแหล่งน้ำสาธารณะนั้นมีความกว้างตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป ต้องร่นแนวอาคารให้ห่างจากเขตแหล่งน้ำสาธารณะนั้นไม่น้อยกว่า6 เมตร 

​ถ้าอ่านเท่านี้ก็สรุปได้ว่า 
วัดพระธรรมกายสร้างรั้ว(ที่ถูกรื้อประตู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรั้วไป) โดยไม่ร่นแนวอาคารให้ ไม่น้อยกว่า 3 หรือ 6 เมตร ตามกฎกระทรวง ซึ่งมีความผิดใช่ไหมครับ

​        ไม่ต้องสงสัยนะครับว่าทำไมรั้วเป็นอาคารด้วยหรือ ?
เนื่องจากในกฎกระทรวงกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) กำหนดเรื่องการสร้างรั้วไว้ ในข้อกำหนดเรื่องการสร้างอาคารด้วย เลยตีความว่า “รั้วเป็นอาคาร”

​#แต่ในข้อเท็จจริงไม่ได้สรุปว่าวัดพระธรรมกายสร้างรั้ว(ที่ถูกรื้อ)โดยไม่ร่นแนวอาคารมีความผิดนะครับ เนื่องจากในกฎกระทรวงข้อ 42 ที่อ้างถึงนี้   เขียนในวรรคท้ายไว้ว่า

​“ทั้งนี้ เว้นแต่ สะพาน เขื่อน รั้ว ท่อระบายน้ำ ท่าเรือ ป้าย อู่เรือ คานเรือ หรือที่ว่างที่ใช้เป็นที่จอดรถไม่ต้องร่นแนวอาคาร”

​#ซึ่งในกรณีอย่างนี้ถ้าใช้กฎหมายปกครองท้องถิ่น ให้ อบต.มาพิสูจน์ทราบกันก่อนเรื่องก็จบแล้วครับ ไม่เห็นต้องยกกำลังกันให้เอิกเกริกเลยครับ

​# ทำให้มาถึงบทสรุปในตอนนี้ได้ว่า
​1.ถ้าพื้นที่ที่ถูกรื้อถอนรั้วเป็นพื้นที่ในโฉนดที่ดินของวัดพระธรรมกาย ย่อมไม่เป็นพื้นที่ทางสาธารณะอย่างแน่นอน เพราะเป็นถนนในที่ดินเป็นของวัดพระธรรมกายเอง ตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 3024/2556

​2.การสร้างรั้วรวมถึงประตูรั้ว ในที่ดินของตนเองไม่ต้องมีระยะร่นตามกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร  พ.ศ.2522  หมวด 4 ข้อ 42 วรรคท้าย จึงเป็นการสร้างโดยชอบด้วยกฎหมาย

        ​ปริศนาชวนคิดและศึกษาไว้เป็นบทเรียนของชาวเราคือ  

​# ในเมื่อพื้นที่นี้เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดพระธรรมกายไม่ใช่พื้นที่ทางสาธารณะ   การที่ตำรวจเข้ามารื้อถอนรั้ว ซึ่งก่อสร้างโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นการบุกรุกที่ส่วนบุคคลและทำให้เสียทรัพย์กับทั้งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ? ให้คิดเองนะครับ



​ส่วนเรื่องที่ว่า ใครต้องรับผิดในเรื่องนี้ !!??
ติดตามตอนจบต่อไปนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น